ชุดว่ายน้ำ LZR RACER : ที่ใส่แล้วเป็นแชมป์เยอะเกิน จนโดนสั่งแบน

ชุดว่ายน้ำ ในบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า วิทยาการ เทคโนโลยี คือสิ่งที่ช่วยพัฒนาให้โลกของเราทันสมัย มนุษย์สามารถทำอะไรได้มากกว่า ดีกว่า และเร็วกว่าแต่กาลก่อน
แน่นอน เมื่ออุปกรณ์ที่ถูกพัฒนาด้วยวิทยาการสมัยใหม่ ทำให้ผู้สวมใส่ที่มีทักษะแต่เดิมสามารถเล่นได้ดีขึ้นกว่าในอดีต ว่าในบางครั้ง ของใหม่ที่ว่าก็ดูจะดีเกินไป จนกลายเป็นความได้เปรียบเสียเปรียบที่ต้องถูกตัดตอนเพื่อความเสมอภาค … อย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับชุดว่ายน้ำชื่อว่า LZR Racer นี้
ร่วมพัฒนาโดย NASA
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ NASA ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานรัฐที่ถูกนำชื่อมาใช้ในการโฆษณามากที่สุดในโลก เพราะขอเพียงแค่มีส่วนร่วมกับหน่วยงานนี้ แม้จะเพียงน้อยนิดไม่ถึงเสี้ยว ก็ดูจะเป็นการเพิ่มเครดิตความสามารถในงานของตัวเองได้มากโข
แต่สำหรับ LZR Racer ชุดว่ายน้ำสไตล์บอดี้สูทจากค่าย Speedo (ผู้ผลิตเผยว่า LZR นั้นออกเสียงว่า เลเซอร์) … นี่คือนวัตกรรมที่ NASA เข้ามามีส่วนร่วมแบบเต็มๆ
หลังมหกรรมที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ผ่านพ้นไปได้ไม่นาน Speedo หนึ่งในผู้ผลิตชุดว่ายน้ำชั้นแนวหน้าของโลก ซึ่งเป็นบริษัทของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สอบถามกับทาง NASA ถึงการช่วยในการพัฒนาชุดว่ายน้ำที่ช่วยลดแรงลาก (Drag) โดยส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความร่วมมือนี้ได้ มาจากคำหยามหยันที่คนวงนอกมองมายังการพัฒนาชุดว่ายน้ำ ดังที่ สจ็วร์ต ไอแซค รองประธานอาวุโสแผนกการขายและการตลาดกีฬาของ Speedo ในขณะนั้นเผยว่า
“ผู้คนมองมายังเราแล้วก็บอกว่า ‘นี่มันไม่ใช่การพัฒนาจรวดนะ จะต้องทำอะไรให้มันยิ่งใหญ่ซับซ้อนทำไม’ และนั่นแหละที่ทำให้เราคิดว่า ‘อืม… บางทีมันอาจจำเป็นก็ได้นะ'”
พราะผลการศึกษาจากฝ่ายวิจัยและพัฒนาของ Speedo เองระบุว่า แรงลากคือหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ฉุดรั้งให้นักว่ายน้ำไม่สามารถว่ายไปได้เท่าที่ศักยภาพของตนมี เมื่อแรงลากนั้นถือเป็น 25% ของแรงต้านทั้งหมดที่กระทำกับตัวนักว่ายน้ำ ไม่เพียงเท่านั้น แรงลากที่เกิดขึ้นบนร่างกายขณะเคลื่อนไหวในน้ำยังมากกว่าที่พบเวลาแหวกอากาศถึง 780 เท่า
การทดสอบและพัฒนา ชุดว่ายน้ำ เพื่อลดแรงลากดำเนินไปอย่างเข้มข้น ทั้งการใช้อุโมงค์ลมของ NASA ในการทดสอบ รวมถึงการหาวัสดุที่มาทำเป็นชุดซึ่งต้องทำการเลือกจากเกือบ 60 ชนิด กระทั่งได้ อีลาสเทน-ไนลอน (Elastane-Nylon) และ โพลียูรีเทน (Polyurethane) มาเป็นวัสดุหลักของชุด
วัสดุที่ใช้ซึ่งมีทั้งความเรียบลื่นและยืดหยุ่น, การออกแบบที่ทำเป็นชุดว่ายน้ำแบบรัดรูปเต็มตัวหรือ Full-body Swimsuit รวมถึงการเย็บด้วยคลื่นอัลตร้าโซนิค (Ultrasonic Welded Seams) ซึ่งแทบจะไม่เห็นตะเข็บที่เกิดขึ้นจากการเย็บเลยแม้แต่น้อย ทำให้ LZR Racer ช่วยลดแรงลากที่เกิดขึ้นกับตัวผู้สวมใส่ได้ถึง 6% จากทั้งหมด ไม่เพียงเท่านั้น การใช้ซิปแบบซ่อนที่ถูกเย็บติดในชุดด้วยคลื่นอัลตร้าโซนิคเช่นกัน ยังช่วยลดแรงลากได้เพิ่มอีก 8% เมื่อเทียบกับซิปแบบมาตรฐานปกติอีกด้วย
น้อยนิด…มหาศาล
ตัวเลขที่ปรากฎข้างต้น อาจทำให้หลายคนคิดว่า อันที่จริงมันก็ไม่ช่วยให้ลดแรงลากได้มากกว่าที่คิดไว้เท่าไหร่ แล้วจะช่วยให้นักว่ายน้ำว่ายได้เร็วกว่าเดิมขนาดไหนกัน?
อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า ในการ แข่งขันกีฬา นั้น เสี้ยววินาทีก็มีความหมายอย่างยิ่งยวด ซึ่งนั้นหมายความว่า แม้การพัฒนาจะช่วยให้พวกเขาไปได้เร็วกว่าเดิมแค่เพียง 1% ก็ตาม … เพียงเท่านี้ก็เพียงพอสำหรับการคว้าชัยชนะแล้ว
หลังจากทดสอบมาเป็นเวลาเกือบ 4 ปี ในที่สุด LZR Racer ก็ปรากฎตัวสู่สายตาชาวโลกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2008 โดยมี 2 รุ่น LZR Pro และ LZR Elite ซึ่งผลการทดสอบชุดแรกๆ ก็ทำให้หลายคนต้องตระหนก เมื่อพบว่าชุดนี้สามารถทำให้ผู้สวมใส่ทำเวลาในการว่ายน้ำได้ดีกว่าเดิม 1.9-2.2% เลยทีเดียว
แต่ผลการทดสอบใดๆ หรือจะพิสูจน์ได้ดีเท่าผลการแข่งขันจริง เพราะในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันนั้นเอง มหกรรมกีฬาโอลิมปิกก็ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้ง โดยมีกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ
ซึ่ง LZR Racer ก็แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวทันที เมื่อในการแข่งขันทั้งหมดทุกรุ่น ทุกฮีต ผู้ชนะถึง 94% สวมชุดว่ายน้ำนี้ เช่นเดียวกับนักกีฬาที่คว้าเหรียญรางวัล 98% ก็สวมชุดนี้ และที่สุดของที่สุดก็คือ ใน โอลิมปิก ครั้งดังกล่าว มีการทำลายสถิติโลกถึง 25 ครั้ง ในจำนวนดังกล่าวมีถึง 23 ครั้งที่ผู้ทำลายสถิติสวมชุด LZR Racer ในการว่าย
และหากจะหาว่ามีโอลิมปิกครั้งใดที่ทำลายสถิติโลกมากกว่าปี 2008 … มีเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น คือในปี 1976 ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ซึ่งนักกีฬาได้รับการอนุญาตให้ใส่ แว่นตาว่ายน้ำ หรือ Goggles เป็นครั้งแรก
การครองวงการของชุดว่ายน้ำดังกล่าวยังคงต่อเนื่องมาถึงศึกชิงแชมป์โลกที่ประเทศอิตาลีในปีถัดมา เมื่อผู้ที่สวม LZR Racer สามารถทำลายสถิติโลกในรายการดังกล่าวได้ถึง 93 ครั้ง เรียกได้ว่า นี่คือชุดว่ายน้ำที่ครองวงการอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม มีผู้ได้ประโยชน์ก็ต้องมีผู้เสียประโยชน์ และกลุ่มสำคัญนั้นก็คือ นักกีฬาที่ไม่ได้สวมชุดว่ายน้ำดังกล่าว รวมถึงบริษัทคู่แข่ง เนื่องจากด้วยการพัฒนาอันซับซ้อน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทาง Speedo จะต้องทำการจดสิทธิบัตรเพื่อไม่ให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ นำเทคโนโลยีที่ตนเหนื่อยยากพัฒนามาเอาไปใช้แบบง่ายๆ
ทว่าสำหรับ นักกีฬา นี่คือสถานการณ์ที่พวกเขาต้องรับมืออย่างยากลำบาก เพราะแม้จะเห็นอยู่ตำตาว่ามีชุดว่ายน้ำที่ทำให้พวกเขาว่ายได้เร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้มีโอกาสลุ้นเหรียญรางวัลมากขึ้น แต่ก็ไม่มีสิทธิ์ได้แตะต้อง เนื่องจากสหพันธ์ว่ายน้ำของพวกเขาได้ทำสัญญากับผู้ผลิตค่ายอื่นไว้ และนั่นทำให้พวกเขาไปไม่ถึงฝั่งฝันกับการคว้ารางวัล แม้บางชาติจะอะลุ้มอล่วย ให้นักกีฬาสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ของค่ายไหนก็ได้ก็ตาม
เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนามาเป็นอย่างดี กลายเป็นสิ่งที่ทำให้การแข่งขันไม่เสมอภาคไปเสียแล้ว…